คปภ. ผนึก China Insurance Regulatory Commission (CIRC) ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยเพื่อให้บริการประชาชน เลขาธิการคปภ. แย้มมีบริษัทประกันภัยหลายแห่งเตรียมพร้อมเข้า Insurance Regulatory Sandbox แล้ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “InsurTech: Sharing Experiences from China” จัดโดย สำนักงาน คปภ. และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก China Insurance Regulatory Commission หรือ CIRC โดยกล่าวว่า จากการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ CIRC ตั้งแต่ปี 2014 ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆที่ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและด้วยมิตรภาพที่ดี ในการเป็นหน่วยงานกำกับอุตสาหกรรมประกันภัยของทั้งสองประเทศจึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยและประชาชนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการการเงินและการประกันภัยทั่วโลก อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางการประกันภัยอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล กระตุ้นให้ภาคธุรกิจประกันภัยไทยเกิดการปรับตัวและเตรียมความพร้อมรองรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการการลดต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงประกันภัยของประชาชน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยแก่ประชาชน
จากข้อมูลและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆต้องปรับตัวให้ทันและสอดรับกับรูปแบบการอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจประเภทต่างๆ เริ่มเลือนรางลงเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกก้าวข้ามขอบเขตการทำธุรกิจแบบเดิม ไปสู่ธุรกิจการค้าและการบริการประเภทอื่นๆ ในส่วนของธุรกิจประกันภัย ประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากปัจจุบันนอกจากจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว พัฒนาการด้านเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไปอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจเข้าสู่แวดวงการประกันภัยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Zhong An (จง – อัน) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น Online Insurer รายแรกของจีนและได้รับการกล่าวถึงในฐานะต้นแบบของ Internet Insurer ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดรายหนึ่งของโลก ทั้งนี้ Zhong An มีลูกค้ามากกว่า 400 ล้านราย และจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 4 พันล้านกรมธรรม์และมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกกว่า 200 รายการ
สำหรับประเทศไทย ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ชอบความสะดวกสบาย ไม่ยุ่งยาก ซึ่งบริษัทประกันภัยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมย่อมมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุน นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นจึงเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจประกันภัย เช่น ประกันภัย cyber ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัยจากการใช้ชีวิตหรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มากขึ้น หรือการซื้อสินค้าออนไลน์ที่มากขึ้น อาจเป็นช่องทางให้มีการรับประกันภัยการขนส่งสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย และในอนาคตอันใกล้ ประกันภัยจะเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีจากสาขาหรือด้านอื่นๆ มากขึ้น เช่น HealthTech และการประกันสุขภาพ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มากขึ้นโดยอาศัย big data ในการขับเคลื่อนธุรกิจ
“สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนา InsurTech และการนำเทคโนโลยีมาให้บริการประชาชน เห็นได้จากการเปิด Insurance Regulatory Sandbox ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งให้ความสนใจและกำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้า Sandbox ของ สำนักงาน คปภ. นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้สำนักงาน คปภ. จะมีการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อก้าวสู่การเป็น Digital Insurance Regulator อย่างสมบูรณ์แบบ ต่อไป”
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่าการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและมิตรภาพที่ดีระหว่าง China Insurance Regulatory Commission หรือ CIRC และ สำนักงาน คปภ. ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยระหว่างกัน การศึกษาดูงานของเจ้าหน้าที่ และรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานกับวิทยากร ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในแวดวงเทคโนโลยีและการประกันภัยระดับโลกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในครั้งนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมประกันภัยไทย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87578
23/08/2560