ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงหนุนสูง ลำน้ำสาขาสายหลัก ที่รองรับน้ำเกิดปัญหาเอ่อล้น เข้าท่วมหลายจังหวัดและขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ที่น้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มทั้งพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรเป็นอย่างมาก
สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ขณะนี้ได้ส่งพนักงานลงไปในพื้นที่สำรวจความเสียหายของประชาชน และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของทางจังหวัด และร่วมมือกับสมาคมวินาศภัยไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
จากการสำรวจพื้นที่จังหวัดสกลนคร พบว่ามีผู้ประสบภัย 6,858 ครัวเรือน จำนวน 25,799 คน และมีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 23,331 ไร่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วเกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีซึ่งได้รับความเสียหาย สามารถเคลมความเสียหายได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี โดยติดต่อที่ ธกส. ในพื้นที่ ซึ่งจะมีระบบเชื่อมโยงไปถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่วนทรัพย์สินที่เสียหาย รวมทั้งรถยนต์ที่จมน้ำ ทางจังหวัดได้มีการบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วนจัดรถยกไปไว้ในที่ปลอดภัย โดยในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ภาค และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดในพื้นที่ได้ประสานงานกับทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยและชมรมประกันวินาศภัยเร่งรัดเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายแล้ว
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) ภาค 4 (นครราชสีมา) และ ภาค 5 (อุบลราชธานี) บูรณาการในการทำงานร่วมกัน โดยเปิดเป็นศูนย์เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ รวมทั้ง สั่งการให้คณะทำงานช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยประสานงานให้บริษัทประกันภัยสำรวจและสรุปรายงานความเสียหาย เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้โดยเร็วต่อไป พร้อมทั้งให้รายงานให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เพื่อประสานความร่วมมือด้านข้อมูลการจัดทำประกันภัยของผู้ประสบภัย ประสานงานการสำรวจภัย และการประเมินความเสียหาย รวมทั้งรวบรวมข้อมูลความเสียหาย เพื่อติดตาม เร่งรัด ให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่ากรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR)รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ที่เกษตรกรได้ซื้อไปแล้ว จะได้รับความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนักด้วย ซึ่งเกษตรกรจะได้รับวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาท ต่อไร่ ขอให้ผู้เอาประกันภัยตรวจสอบกรมธรรม์ด้วยว่าเป็นแบบใดและคุ้มครองเพียงใด ซึ่งหากมีข้อสงสัยให้ประสานงานกับบริษัทที่รับประกันภัยหรือ สายด่วน คปภ. 1186 โดยอย่าหลงเชื่อคำแอบอ้างใดๆทั้งสิ้น
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87477
29/07/2560