ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยมีฝนตกชุกและในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 283/ 2560 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามการช่วยเหลือด้านการประกันภัยกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ เพื่อกำกับและติดตามให้บริษัทประกันภัยดำเนินการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัยในการแก้ไขสถานการณ์ที่ขึ้นเกิดได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

สำนักงาน คปภ. ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาด้วยการออกมาตรการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อเป็นเตรียมความพร้อมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เอาประกันภัย ประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด โดยประสานความร่วมมือกับสาขาบริษัทประกันภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย สมาคม/ชมรมประกันภัยในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และจังหวัดใดที่เกิดน้ำท่วมให้รายงานสถานการณ์ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกหนังสือถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิต ให้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยให้มีการประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันภัยเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ในกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยขอให้บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต เร่งรัดตรวจสอบความเสียหาย และพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ทั้งนี้จากการที่ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวกทม.ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของรถยนต์มีรถยนต์ถูกน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย และได้ประสานงานกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ติดตามให้ความช่วยเหลือ และเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าว โดยในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการช่วยเหลือด้านการประกันภัยฯเพื่อติดตามดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยนี้เป็นการเร่งด่วน

จากรายงานล่าสุด ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2560 เวลา 9.30 น. มีรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 3,184 คัน ซึ่งทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัย 41 บริษัท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 45,598,009 บาท

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 15 รายการ เช่น ตรวจสอบแบ็ตเตอรี่ (ถอดขั้ว/ตรวจสอบน้ำกลั่น/ไฟ-ชาร์ท) ทำความสะอาดตัวรถ ล้าง-อัด-ฉีด ขัดสี ถอดเบาะนั่ง หน้า-หลัง  ถอดคอนโซลกลาง (คันเกียร์) ถอดพรมในเก๋ง-ซักล้าง-ตาก-อบแห้ง ถอดคันเร่ง (รถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและเซ็นเซอร์) ถอดลูกยางอุดรูพื้นรถและทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดห้องเครื่อง-เป่าแห้ง ตรวจสอบทำความสะอาดระบบเบรก 4 ล้อ/ผ้าเบรก ทำความสะอาดสายไฟ-ปลั๊กไฟด้วยน้ำยาเคมีภัณฑ์ ตรวจสอบชุดท่อพักไอเสีย (แคทธาเรติค)

ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000 -20,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 26 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก 15 รายการในระดับ A คือ การถ่ายน้ำมันเครื่อง-เกียร์-เฟืองท้าย กรองน้ำมันเครื่อง-กรองอากาศ-กรองเบนซิน-กรองโซล่า ตรวจระบบจุดระเบิด หัวเทียน จานจ่าย หัวฉีด ตรวจสอบชุดเพลาขับ ถอดทำความสะอาดแผงประตูทั้ง 4 บาน ตรวจชุดสวิทซ์สตาร์ท-กล่องควบคุมไฟ-กล่องฟิวส์ ถอดทำความสะอาดไล่ความชื้นระบบเข็มขัดนิรภัย ถอดทำความสะอาดชุดมอเตอร์ยกกระจกไฟฟ้า ตรวจสอบทำความสะอาดเบาะ ถอดทำความสะอาด (ไดร์สตาร์ทและไดร์ชาร์จ) เพื่อไล่ความชื้น

ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 39 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A และ B คือ ตรวจสอบชุดอีโมไรท์เซอร์/ระบบ GPS (ที่ติดมากับรุ่นรถ) ตรวจสอบไล่น้ำออกจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี ห้องเผาไหม้ ตรวจสอบลูกปืนไดชาร์ท ลูกรอก ตรวจสอบทำความสะอาดระบบไฟส่องสว่าง (ไฟหน้า-ท้าย-เลี้ยว) ตรวจเช็คระบบขับเลี้ยวไฟฟ้า ถอดตรวจเช็คตู้แอร์ มอเตอร์ โบวเวอร์ เซ็นเซอร์ ถอดหน้าปัดเรือนไมล์ เกจ์ ถอดตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและสายไฟขั้วต่างๆ ตรวจเช็คระบบเครื่องเสียง-วิทยุ-แอมป์-ลำโพง ตรวจเช็คระบบเบรก (ABS) ตรวจชุดหม้อลมเบรก/ แม่ปั้มบน-ล่าง ตรวจสอบลูกปืนล้อ-ลูกหมาก-ลูกยางต่างๆ ผ้าหลังคา/แมกกะไลท์

ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป มีรายการที่ต้องดำเนินการ 40 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A – C มา 1 รายการ คือ ทำสี (กรณีสีรถได้รับความเสียหาย) ซึ่งในกรณีนี้ทางบริษัทผู้รับประกันภัยอาจพิจารณาคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยก็ได้

และระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทผู้รับประกันภัยจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัยสถานเดียว

ทั้งนี้จากรายงานดังกล่าว พบว่า รถยนต์ส่วนใหญ่ 70% จากจำนวน 3,155 คัน ถูกน้ำท่วมในระดับ A-B จึงกำชับให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวเร่งรัดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่จะได้รับความคุ้มครองกรณีภัยจากน้ำท่วมต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 หรือ ประเภท 3 หรือประเภท 2+ หรือ 3+ ที่ซื้อความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (ภัยน้ำท่วม) เพิ่มเติม ก็จะได้รับความคุ้มครองเช่นกัน สำหรับประชาชนซึ่งรถยนต์ที่เสียหายไม่ได้ทำประกันหรือประกันภัยไม่ครอบคลุมก็สามารถใช้แนวปฎิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ข้างต้น ในการป้องกันมิให้อู่ซ่อมรถยนต์เรียกค่าซ่อมเกินความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเนื่องจากภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นและก่อความเสียหายได้อีก จึงขอแนะนำให้ประชาชนบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย โดยในส่วนของประกันภัยรถยนต์ควรเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเคลมประกันภัยจากบริษัทประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186

 

ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87716


18/10/2560

แชร์

 

บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ หากท่านปฏิเสธคุกกี้ หรือยังคงใช้งานเว็บไซต์ต่อไป บริษัทฯจะยังคงเก็บคุกกี้ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้งานเว็บไซต์ของท่านเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม

ปฏิเสธ ยอมรับ