ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เวลา 10.00 น. ได้มอบหมายให้นายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการ คปภ.ด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. นำประชาชนกว่า 30 คน ที่ได้รับความเสียหายจากบริษัทเอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้สืบเนื่องจากสำนักงาน คปภ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ว่า บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด ที่มี นางสาววราพร บุตรแสน และนายชาญยุทธ โสมาศรี ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ ได้กระทำการเสนอขายประกันภัยรถยนต์ของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ผ่านทางโทรศัพท์ให้แก่ประชาชนและเป็นผู้เสียหายประมาณ 200 ราย ทั่วประเทศ โดยเมื่อผู้เสียหายได้ตกลงทำประกันภัยรถยนต์และชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย ทางบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด จึงออกเอกสารใบคำขอเอาประกันภัยซึ่งอ้างว่าเป็นของบริษัทประกันภัยหลายแห่งและออกใบเสร็จรับเงินของบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด ให้แก่ผู้เสียหายไว้เป็นหลักฐาน แต่ปรากฏว่า ผู้เสียหายไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยที่ถูกระบุว่าเป็นบริษัทผู้รับประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยแจ้งว่าไม่มีการแจ้งขอเอาประกันภัยแต่อย่างใด ดังนั้นผู้เสียหายจึงติดต่อกลับมายังบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด เพื่อขอยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยและขอเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืน แต่พนักงานของบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมให้ยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ หรือหากจะยกเลิกการซื้อกรมธรรม์ ผู้เสียหายจะต้องถูกหักค่าใช้จ่าย และยิ่งไปกว่านั้นมีผู้เสียหายหลายรายที่ขับรถยนต์ไปประสบอุบัติเหตุ แต่เมื่อไม่มีการขอเอาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ บริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด ยังได้ลงโฆษณาในเว็บไซต์ www.smpinsure.com โดยมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของบริษัทประกันภัยหลายบริษัท เพื่อชี้ช่องให้ประชาชน เข้าทำสัญญาประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบจากฐานข้อมูลใบอนุญาตตัวแทนประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันวินาศภัย พบว่า บริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด ไม่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยแต่อย่างใด สำหรับนายชาญยุทธ โสมาศรี ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด แต่ได้ถูกยกเลิกใบอนุญาตเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ส่วนนางสาววราพร บุตรแสน ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยบุคคลธรรมดา ประเภทจัดการประกันวินาศภัยโดยตรง ใบอนุญาตเลขที่ 5804032748 ซึ่งนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยไปแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้สำนักงาน คปภ.ยังได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทประกันภัยหลายบริษัทที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตเกียวประกันภัย จำกัด (มหาชน)โดยเบื้องต้นสำนักงาน คปภ. ได้รับแจ้งข้อมูลการดำเนินการตามกฎหมายจากบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด กล่าวคือ บริษัท ประกันภัยคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการฟ้องนางสาววราพร บุตรแสน เป็นคดีอาญา ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ รวมทั้งได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาตัวแทนนายหน้า เป็นคดีแพ่ง ต่อศาลแขวงปทุมวัน ส่วนบริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร กรณีบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด แอบอ้างชื่อของบริษัทเพื่อขายกรมธรรม์โดยมิได้เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทแต่อย่างใด สำหรับ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด และนางสาววราพร บุตรแสน ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และนำชื่อในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้จากการหารือของบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด มีความเห็นสอดคล้องกันว่า กรณีที่บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด กระทำการใช้เอกสารใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งไม่ใช่เอกสารของบริษัทประกันภัย เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ซึ่งบริษัทประกันภัยจะดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนต่อไป อีกทั้งบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากกรณีที่บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด กระทำการใช้ตราสัญลักษณ์ของบริษัทลงโฆษณาในเว็บไซต์ www.smpinsure.com อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และบริษัทประกันภัยทุกบริษัทพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด ให้ถึงที่สุดดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้ประสานกับผู้เสียหายให้มาร้องทุกข์เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กับบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด ในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งอาจเข้าลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย
“การกระทำของบริษัทฯและพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าวได้สร้างความเสียหายกับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผมจึงสั่งการให้สำนักงานคปภ.ที่มีประชาชนได้รับความเสียหายรวบรวมข้อมูลการกระทำความผิด ตลอดจนติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่พร้อมให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด ส่วนในการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาว คือ การเร่งผลักดันการแก้ไขกฎหมายประกันภัยโดยเพิ่มบทบัญญัติฐานความผิดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยและเข้มงวดในการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลคนกลางประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ด้านนายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ท่านเลขาธิการ คปภ.ได้ให้ความสำคัญและห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหาย จึงได้สั่งการให้ เฝ้าจับตามองพฤติกรรมของกลุ่มคนดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและให้สำนักงาน คปภ.ทุกพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเสียหายเพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้รัดกุมในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด ดังนั้นตนจึงได้รับมอบจากเลขาธิการ คปภ.ให้นำประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เอส.เอ็ม.พี. อินชัวร์ จำกัด โดยกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท ในความผิดฐานกระทำการใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “อินชัวร์” อันเป็นการใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อธุรกิจว่า “ประกันวินาศภัย” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน โดยนำไปแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนประกันวินาศภัยหรือนายหน้าประกันวินาศภัยที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 18 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 และกระทำการชี้ช่องให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน เป็นความผิดตามมาตรา 63 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
ส่วนกรณีที่บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด โดยกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัท กระทำการโฆษณาในเว็บไซต์ www.smpinsure.com โดยมีการใช้ข้อความอันเข้าลักษณะเป็นการชี้ช่องให้ผู้เสียหายเข้าทำสัญญากับบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ทั้งๆที่บริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด ไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยแต่อย่างใด ประกอบกับบริษัทประกันภัยหลายแห่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัท เอส.เอ็ม.พี อินชัวร์ จำกัด และ/หรือนางสาววราพร บุตรแสน และ/หรือนายชาญยุทธ โสมาศรี แต่อย่างใด อันอาจเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
“สำนักงานคปภ.มีความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านประกันภัยให้กับประชาชน และไม่ประสงค์ให้กลุ่มคนใดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย ดังนั้นจึงอยากให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง” นายตนุภัทร กล่าวในที่สุด
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/87713
16/10/2560